การพัฒนาบุคคลากร » Bright spot ฮักแพง แบ่งปัน สานสุข พอเพียง คปสอ.นาคู

Bright spot ฮักแพง แบ่งปัน สานสุข พอเพียง คปสอ.นาคู

10 กรกฎาคม 2020
1612   0

ฮักแพง แบ่งปัน สานสุข พอเพียง คปสอ.นาคู

  คปสอ.นาคูได้ให้ความสำคัญกับความสุขของบุคลากร โดยนำวิถีชีวิตของคนภูไทและแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการพัฒนาความสุขของบุคลากร คปสอ.นาคู ภายใต้สโลแกน ชาวนาคู ฮักแพง แบ่งปัน สานสุข พอเพียง จนเป็นหน่วยงานที่มีการประเมินความสุขด้วย Happinometer ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 70 ในทุกมิติ

  อำเภอนาคูเป็นอำเภอเล็ก ๆ สุดขอบชายแดนจังหวัดกาฬสินธุ์ มีบริบทชุมชนและทุนทางสังคมของชาติพันธุ์ภูไทเป็นส่วนใหญ่ มีหน่วยงานที่ดูแลพี่น้องประชาชนด้านสุขภาพคือ คปสอ.นาคู ซึ่งเป็น คปสอ.น้องใหม่ มีบุคลากรในองค์กร 167 คน สมาชิกในองค์กรส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตไปตามการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตามยุคสมัยของสังคม แต่วัฒนธรรมผู้ไทที่มีการอยู่อาศัยแบบเรียบง่าย สามารถพึ่งตนเองได้ ด้วยการดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ บนฐานการพึ่งตนเองเป็นหลักยังคงมีอยู่ รวมไปถึงวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเสียสละ จิตอาสา การแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน ตลอดจนความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ยังคงแสดงออกมาอย่างชัดเจน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสมาชิกใน คปสอ.นาคู     

  จุดเริ่มต้นขององค์กรแห่งความสุข คือการเพิ่มคุณค่าของคนให้เป็นคนสำคัญ เมื่อคนมีคุณค่ามากขึ้นเป็นคนสำคัญขององค์กร การพัฒนาคนจึงต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร กระบวนการทั้งหมดเราเรียกว่า กระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในองค์กร สิ่งแรกที่องค์กรต้องทำคือต้องปรับทัศนคติ เปลี่ยนมุมมองต่อคนขององค์กร เพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมกัน และการพัฒนาองค์กร ให้มีความสุขจากการมาทำงาน

  ผลการสำรวจความสุขของคนในองค์กรด้วยเครื่องมือ Happinometer พบว่า  ภาพรวมเราไม่ได้ ทุกข์มาก บุคลากรมีความสุขในการทำงาน มีระดับความผาสุกอยู่ ในระดับมีความสุขถึง 60.9 % แต่ถ้าดูรายด้านบุคคลเรามีความทุกข์ในมิติ การเงินดี ผ่อนคลายดี และด้านสมดุลชีวิตกับการทำงานท่านประธาน คปสอ.นาคูได้หารือคณะกรรมการ คปสอ. เพื่อวางแนวทางในการสร้างทีมงานและแผนพัฒนาความสุขให้กับบุคลากร โดยวิเคราะห์สภาพปัญหา และทบทวนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อสร้างความสุขที่เกิดจากบริบทของตัวเองจริงๆ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แบ่งปันซึ่งกันและกัน ยกย่องเชิดชูคนดี และเข้าถึงเข้าใจบุคลากรทุกระดับ หากมีปัญหาก็สามารถไปปรึกษาผู้บริหารหรือประสานงานกับศูนย์ประสานงานความสุขของ คปสอ. (Happy Clinic) ได้ อย่างต่อเนื่อง

  การทำงานอย่างมีความสุข การสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรให้บุคลากรมีความผูกพันและสามัคคีของ คปสอ.นาคู โดยใช้รูปแบบวัฒนธรรมภูไทและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงาน โดยสาธารณสุขอำเภอนาคู นายนพรัตน์ ไทยแท้ ได้มีแนวคิดในการสร้างความสุขให้สมาชิกในองค์กรใน 3 มิติ โดยมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายดังนี้

มิติผ่อนคลายดีและมิติสุขภาพกายดี

กิจกรรมลดเวลางานเพิ่มเวลาความสุข โดยกำหนดให้บุคลากรพักการทำงาน (ยกเว้นเวรบริการผู้ป่วย)ในเวลา 15.30-16.30 น.ของทุกวัน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว/วิ่ง/เต้นแอโรบิก หรือร้องเพลงหรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ

มิติการเงินดี

สวนสุขพอเพียงในโรงพยาบาลและรพสต.ทุกแห่ง โดยจัดทำสวนสุขพอเพียงต้นแบบเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรได้มีกิจกรรมทำสวนพอเพียงร่วมกันและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในครัวเรือนอันเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดค่าใช้จ่ายตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 4 ขั้นพื้นฐานคือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และมีการแบ่งปันให้กับผู้ป่วย รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน ดังภาพ

มิติความผูกผันองค์กรและความพึงพอใจ

Walk Rally Homeโดยทีมบุคลากรติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อนร่วมงานเพื่อเข้าใจในสภาพการเป็นอยู่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ความพอเพียงร่วมกัน และร่วมรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันทุกวันอังคาร………….ดังภาพ

ผูกข้อต่อแขนหลังคลอดบุตร…………………………..ดังภาพ

ยกย่องเชิดชูคนทำดี …………………………..ดังภาพ

จิตอาสาเราพัฒนา 5 ส.ในที่ทำงานเดือนละ 1 ครั้ง (ทุกสิ้นเดือน) …………………………..ดังภาพ

ผลจากการดำเนินงานในปี 2563 ทำให้บุคลากรมีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้นในมิติผ่อนคลายดีจากร้อยละ 51.4 เป็นร้อยละ 72.5 ,มิติสุขภาพกายดีจากร้อยละ 63.2 เป็นร้อยละ 74.3 ,มิติความผูกผันองค์กรและความพึงพอใจ จากร้อยละ 66 เป็นมากกว่าร้อยละ 79.5  แต่ยังมีเพียงมิติการเงินดีเท่านั้นที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก อาจเนื่องจากในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน ประกอบกับเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า แต่ก็มีบุคลากรส่วนหนึ่งที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะเขาอยู่แบบพอเพียงและมีความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนด้วยสวนสุขพอเพียง

ปัจจัยความสำเร็จในพัฒนาความสุขของบุคลากร อันดับแรก คือ ผู้บริหารให้ความสำคัญ และกำหนดเป็นนโยบายขององค์กร การปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดี และมีการติดตามให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยต่อมา คือ ความร่วมมือของบุคลากร ซึ่งโดยธรรมชาติของบุคลากร คปสอ.นาคู เราอยู่กันแบบพี่แบบน้อง เป็นครอบครัว  ฮักแพง แบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีความเสียสละ และให้ความเคารพต่อผู้บังคับบัญชา วัฒนธรรมองค์กรเหล่านี้ ส่งผลโดยตรงต่อการสร้างความสุขในองค์กร

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นการสร้างกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานที่เหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินชีวิตตามบริบทของชนชาวภูไท เกิดจากแนวคิดในการสร้างสุขของคนในองค์กร มีเป้าหมายเพื่อที่จะเพิ่ม ประสิทธิภาพในการทำงานและการอยู่ร่วมกันของคนในองค์กร นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานของ คปสอ.นาคู ทำให้องค์กรมีความสามารถพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของตนเอง เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน เป็นองค์กรที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นองค์กรแห่งความสุขที่แท้จริงต่อไป