เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : หนังสือ “เมื่อมีลูกชายวัยรุ่น” โดย สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
ภาพประกอบโดย : ณัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
การเปลี่ยนแปลงที่พ่อแม่ต้องพบเจอเมื่อมีลูกหลาน นั่นคือพัฒนาการที่เปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงวัย และช่วงที่เรียกว่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ได้อย่างชัดเจน นั่นคือ ‘วัยรุ่น’
ทั้งแขนขาที่เหยียดยาว ลำตัวที่ยืดสูง เสียงที่แตกหนุ่ม หนวดเคราที่เริ่มขึ้น รวมถึงความคิดความอ่านที่เปลี่ยนไป เริ่มมีการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอายุที่ถูกจำกัดให้อยู่ในช่วงวัยรุ่นก็คืออายุระหว่าง 13-21 ปี และในช่วงวัยนี้ยังแทบจะเป็นการปูพื้นฐานก่อนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานอีกด้วย
ในด้านอารมณ์ เด็กในวัยนี้มักจะมีอารมณ์สนุก โลดโผน กล้าคิด กล้าทำ อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ค่อนข้างเชื่อความคิดตัวเอง ฟังน้อยลง หรือมีอารมณ์เก็บกด เริ่มมีความลับที่ไม่ค่อยอยากบอกพ่อแม่
ส่วนนิสัยที่มักพบเห็นได้บ่อยนั่นคือ ชอบคุยเรื่องความสำเร็จของตน, ไม่ชอบคุยเรื่องจุกจิก ชอบการแข่งขัน ชอบล้ำหน้า ชอบความเสี่ยง, เลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลที่ตนเองชื่นชอบแต่ถ้าเป็นเรื่องความรู้สึกและความรัก ผู้ชายจะแสดงออกตรงๆ กับบุคคลนั้น
เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับผู้ปกครอง พ่อแม่สามารถแนะนำบุคคลที่น่าสนใจ หรือมีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ ให้ลูกรู้จัก เช่น นักกีฬา นักดนตรี นักวิชาการ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่ดีและเป็นแรงบันดาลใจที่จะช่วยผลักดันให้ลูกอาจจะค้นพบตัวเอง
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม สร้างความเข้าใจ และเป็นแนวทางในการดูแลลูกชายเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงนำข้อมูลมาฝากดังนี้ค่ะ
ต้องคุยเรื่องอะไรบ้าง…เมื่อลูกเป็นวัยรุ่น?
สอน…ให้รู้จักให้เกียรติเพศตรงข้าม
สอนให้เห็นเรื่องความเท่าเทียมในเรื่องเพศ ความเสมอภาคทั้งทางกฎหมายและสังคมนิยม เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยให้ไม่ใช้กำลังรังแกและความรุนแรงต่อผู้หญิงในอนาคต
สอน…ให้เฝ้าระวังยาเสพติด
วัยรุ่นชายมีโอกาสเสี่ยงต่อการเข้าสู่วงโคจรของนักดื่มสุราและยาเสพติดมากกว่าวัยรุ่นหญิง เพราะเป็นช่วงที่ต้องการการยอมรับในกลุ่มเพื่อน โดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นวงโคจรจากการสูบบุหรี่ เริ่มดื่มสุรา ไปจนถึงยาเสพติดได้ พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกเกิดความนับถือในตัวเอง เพื่อให้เขารู้สึกว่าได้รับการยอมรับและตนเองมีคุณค่า ผ่านความสามารถที่ตนเองมี อย่างเช่น ทักษะการเล่นดนตรี กีฬา หรือไลฟ์สไตล์ที่ชอบทำกิจกรรมต่างๆ
เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับผู้ปกครอง…เมื่อสงสัยว่าลูกอาจจะมีพฤติกรรม ‘เสี่ยง’
- พูดคุยหยั่งเชิงถามข้อมูล
- เชื่อมโยงกับเครือข่ายรอบชีวิตของลูกเพื่อเป็นแหล่งข้อมูล
- แสดงให้เห็นว่ายาเสพติดเป็นศัตรูร้าย
- เฝ้าระวัง ทั้งจากผลการเรียน พฤติกรรม สุขภาพกาย-จิต บุคลิกภาพ และการใช้เงิน
สอน…ให้รู้เท่าทัน ‘อันตราย’ จากความ ‘เร็ว’
วัยรุ่นเป็นวัยที่คึกคะนอง ชอบความเสี่ยง และมักจะมีอารมณ์ร้อน พ่อแม่ควรแนะนำให้ลูกชายมีพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย ไม่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง สวมหมวกกันน็อกหรือคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ปฏิบัติตามกฎจราจร และมีวินัยเมื่อต้องใช้รถใช้ถนน
เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่อาจยกตัวอย่างเหตุการณ์การใช้ความเร็วที่ส่งผลอันตรายถึงชีวิตจากสื่อต่างๆ ให้ลูกเห็น ทั้งการรายงานข่าว คลิปรณรงค์ต่างๆ หรือพยายามเปลี่ยนค่านิยมในการซื้อรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ให้ลูกเป็นของขวัญ จนกว่าจะเห็นว่าลูกมีความพร้อมและวุฒิภาวะเหมาะสม
เทคนิค ‘คุย’ กับลูกวัยรุ่น
สิ่งที่ลูกต้องการ คือ การยอมรับความคิดเห็น ถึงแม้ว่าจะมีเหตุผลที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ แต่พ่อแม่ก็ต้องไม่ลืมที่จะให้โอกาสเขาได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ด่วนตัดสินว่าผิดหรือถูก ให้เกียรติในการคุยเสมือนว่าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง หากจะดุหรือว่ากล่าวตักเตือนพ่อแม่ก็ควรพูดตรงๆ เฉพาะเรื่องนั้นอย่างตรงประเด็น และอย่าเอาความผิดเก่าๆ มาพูดซ้ำ
ส่วนบรรยากาศที่ลูกๆ ต้องการจากการพูดคุยก็คือ การคุยกันในบรรยากาศดีๆ สบายๆ ไม่กดดัน คุยกันได้หลายๆ เรื่องอย่างสนุกสนานและยอมรับในความแตกต่าง รวมถึงพ่อแม่สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ในยามที่ต้องการ ใกล้ชิดแต่ไม่วุ่นวาย ไม่เจ้ากี้เจ้าการหรือบีบบังคับกันจนเกินไป
สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้และปฏิบัติ
- เริ่มต้นจากความเข้าใจ
- หมั่นคิดเสมอว่าเราคือเพื่อนสนิท เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ติดเพื่อน อาจลองเปลี่ยนจากความห่วงใยมาเป็นนั่งคุยกันเล่นๆ
- เปลี่ยนจากผู้พูดเป็นผู้ฟัง
- หัดชื่นชมให้ชื่นใจ
- หลีกเลี่ยงการถามขึ้นต้นว่า “ทำไม”
- ใช้น้ำเสียงน่าฟัง
เทคนิคเหล่านี้จะใช้ไม่ได้ผล หากพ่อแม่ยังใช้อารมณ์และความคิดของตัวเองตัดสิน เช่น ตำหนิ ใช้เสียงดัง ดังนั้นพ่อแม่ต้องมีสติสำหรับการจัดการความรู้สึกตัวเองให้นิ่ง และเป็นกลางก่อนพูดคุยกับลูกเสมอๆ
อย่าลืมไปว่า ‘เพื่อน’ ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุด
ทั้งความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ หากพ่อแม่ได้รู้จักกับเพื่อนๆ ของลูกจึงอาจทำให้เข้าใจว่าลูกกำลังสนใจอะไร ทำอะไร และจะตามหาตัวได้ที่ไหน
คุยกับลูกว่าเพื่อนคนนี้เป็นคนอย่างไร : มีข้อดีข้อเสียตรงไหน เพื่อฝึกให้ลูกหัดแยกแยะ ชักจูงให้รู้จักพิจารณาว่าพฤติกรรมข้อดีข้อเสียแบบไหนที่ควรคบต่อ
อย่าด่วนแจกแจงความไม่ดีของเพื่อนลูกก่อน : เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณไม่ชอบเพื่อนเขา
ช่วยกันหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหา : เท่ากับช่วยฝึกให้ลูกเรียนรู้และรู้จักคนเพิ่มขึ้น
เป็นที่ปรึกษา : เพราะเวลาที่ลูกคบเพื่อนอาจเกิดปัญหาขึ้นเป็นระยะ ต้องมีเวลารับฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของลูก และให้ลูกได้เสนอทางแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อนการคิดแทนลูก
วางขอบเขตในการคบเพื่อนให้ลูก : เช่น ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่รบกวนการเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของตนเอง ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
สุดท้ายนี้ คนเป็นพ่อแม่และผู้ปกครองอย่างเราๆ ต้องไม่ลืมที่จะให้อิสระลูกได้เรียนหรือทำในสิ่งที่รัก เพราะการบังคับลูกโดยไม่สนใจความถนัดของลูก อาจส่งผลเสีย ทำให้ลูกไม่ชอบหรือเกลียดการเรียนและทำในสิ่งนั้นๆ หรือไม่ก็อาจทำให้ลูกคร่ำเคร่งเรียนจนไม่มีสังคม เพราะเด็กในวัยนี้ควรได้รับการพัฒนาและตั้งเป้าหมายชีวิตตามศักยภาพที่เขามี โดยที่พ่อแม่เป็นเพียงผู้สนับสนุนและชี้แนะ ที่คอยเติมเต็มความรักและกำลังใจเพื่อการขับเคลื่อนชีวิตอย่างถูกทาง